2023-03-10 11:41:03 / Interior , Architecture

เจ้าเชื่อเรื่อง "พิธีตั้งเสาเอก" บ่ ก่อนก่อสร้างจำเป็นต้องมีพิธีอะไรก่อนไหม . . .

โดยส่วนใหญ่ที่ดินที่จะทำการก่อสร้าง จะมีพื้นที่ติดกับแหล่งชุมชน ซึ่งระหว่างการก่อสร้างอาจทำให้มีการรบกวนต่อผู้อยู่อาศัยไม่มากก็น้อย เช่น มีเสียงดัง เกิดฝุ่นละออง ความสกปรก แรงสั่นสะเทือน หรือเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินได้ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินงานควรมีหน่วยงานของทีมก่อสร้างเข้าไปแนะนำตัว และขออภัยล่วงหน้าก่อนลงมือปฏิบัติงาน เพื่อสร้างมิตรภาพ และ ให้ข้อมูลการติดต่อเพื่อใช้ในกรณีที่อาจเกิดเหตุการณ์ต่างๆ

 

นอกจากเพื่อนบ้านที่ต้องแจ้งแล้ว เรื่องที่ต้องขออนุญาตอีกคงหนีไม่พ้นสิ่งลี้ลับ หรือการทำพิธีบวงสรวง เนื่องด้วยประเทศไทยมีวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน ซึ่งจะเป็นพิธีกรรมบวงสรวงก่อนเริ่มก่อสร้างเพื่อเป็นการขออนุญาต ขอขมาลาโทษ ตลอดจนถือโอกาสขอพร ให้โครงการ หรือธุรกิจประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของพิธีกรรมการบวงสรวงต่างๆ

 

พิธีกรรมที่เป็นที่นิยมใช้กันในช่วงเริ่มงานก่อสร้าง ที่เห็นกันบ่อยๆ ได้แก่ พิธีลงเสาเข็มต้นแรก พิธียกเสาเอก พิธีก่อฤกษ์ และพิธีวางศิลาฤกษ์ การเลือกทำพิธีและให้ความสำคัญก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ และความสะดวก ความเหมาะสม

วันนี้ V45 Group จะมาเล่าเกี่ยวกับ "พิธีตั้งเสาเอก" ให้ฟังกันค่ะเนื่องจากเป็นพิธีที่นิยมลำดับต้นๆ เลยก็ว่าได้

"พิธีตั้งเสาเอก" เปรียบเสมือนการเสริมสิริมงคลให้กับสิ่งก่อสร้าง หรือเป็นการขอขมาต่อเจ้าที่ เจ้าทาง ตามความเชื่อของคนโบราณ โดยการทำพิธียกเสาเอกจะต้องมีการเตรียมหลุมของเสาเอกก่อน และใช้เข็มพิธี 9 ต้น ซึ่งเข็มพิธีทำมาจากไม้มงคล 9 ชนิด และทำการตอกลงไปตามลำดับ พร้อมใช้แผ่นอิฐมงคลอีก 9 แผ่น ก่อลงไปในหลุม เป็นอันเสร็จพิธี

 

เนื่องด้วยการทำพิธีต่างๆ ต้องมีฤกษ์ยามเป็นการหาเวลา หรือจังหวะที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่องานก่อสร้างมากนัก ในปัจจุบันจึงมีการดัดแปลงพิธีกรรมออกไป เพื่อให้สะดวกต่อการสร้างโครงการ ไม่ให้เกิดปัญหากระทบกับการดำเนินงานก่อสร้าง และเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง

 

พิธีที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน สามารถเลือกทำพิธีตามความเหมาะสม ความสะดวก และความสบายใจจะดีที่สุดค่ะ

เรียบเรียงโดย : V45 GROUP

อ้างอิงจากเว็บไซต์ : Mckeller